วันที่ 5 กันยายน 2562 สำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูล เพื่อการพัฒนาสู่โรงเรียนต้นแบบรักษาศีล 5 ครอบครัวอบอุ่นด้วย 7 กิจวัตรความดีปีการศึกษา 2562 ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีจันทบุรี อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
ชมรมบ้านแสงสว่าง ครอบครัวอบอุ่นแห่งประเทศไทย ได้กำหนดรูปแบบการทำกิจกรรมโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ สู่โรงเรียนต้นแบบรักษาศีล 5 ครอบครัวอบอุ่นด้วยเครื่องมือ 7 กิจวัตรความดี ผ่านการประเมินกิจกรรมทางออนไลน์ 5 ขั้นตอน ( STEP 1-5 ) ในปีการศึกษา 2562 เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประชาสัมพันธ์ ผลิตสื่อที่จะสร้างแรงบันดาลใจ ให้สถานศึกษาและองค์กรอื่น ๆ ที่ติดตามในเว็บไซต์ www.sila5.com หรือช่องทางอื่น ๆ จากชุมชนรอบรั้วโรงเรียน จากนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงนิสัยดี หลังจากปฏิบัติ 7 กิจวัตรความดี จากเอกสารร่องรอยหลักฐานการดำเนินการและผลที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ เพื่อพัฒนานิสัยดี ให้กับนักเรียน บุคลากรในองค์กร กระจายไปทุกภาคส่วนขยายกว้างมากขึ้น
วิทยาลัยเทคโนโลยีจันทบุรี ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้จัดการนางปฤษณา บุญจิตสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการนายประพันธ์ แจ้งสว่าง พร้อมคณะครูและนักศึกษา รวมทั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิที่สถานศึกษาสรรหามาร่วมเก็บข้อมูลจำนวน 2 ท่านคือ พระมหาถาวร ขันติวิชโย ( เจ้าอาวาสวัดป่าธัญญาราม ) และนางชุติมา งบสูงเนิน ( ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 )
วิทยาลัยเทคโนโลยีจันทบุรี เปิดสอนระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 150 คน นักศึกษาแกนนำ 13 คน บรรยากาศในสถานศึกษาเหมือนครอบครัวที่อบอุ่น นายกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทยของวิทยาลัยเทคโนโลยีจันทบุรีได้กล่าวต้อนรับ แล้วคณะกรรมการได้จัดกลุ่มเก็บข้อมูลทั้ง 3 ด้าน สำรวจตามสภาพจริง และเอกสาร หลักฐานที่ปรากฎ การพูดคุยสัมภาษณ์ การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์อย่างกัลยาณมิตร อีกทั้งสถานที่ตั้งของวิทยาลัยอยู่บริเวณเดียวกับโรงเรียนปะตงวิทยา ซึ่งเปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้ทีมงานชมรมบ้านแสงสว่างฯได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารและทีมงานทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษา โดยเฉพาะช่วงบ่ายที่มีการสรุปข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ค้นพบในวันนั้น มีผู้บริหารจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาศรีราชา (เป็นหน่วยงานในเครือเดียวกัน)ได้เดินทางมาร่วมรับฟังในครั้งนี้ด้วย
จุดเด่นของสถานศึกษา
1. สภาพแวดล้อมทั่วไป
สถานศึกษามีแหล่งเรียนรู้ให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนตนเองทั้งด้านพัฒนาวิชาชีพ ด้านทักษะชีวิต โดยเฉพาะการสื่อสารและสร้างนิสัยจิตอาสารับใช้สังคมทำงานร่วมกับผู้อื่นในอำเภอสอยดาว ภายใต้การบริหารงานร่วมกันกับคณะกรรมการสถานศึกษา อีกทั้ง 3 หน่วยงาน
คือ วิทยาลัยเทคโนโลยีจันทบุรี, วิทยาลัยเทคโนโลยีศรีราชาและโรงเรียนปะตงวิทยา มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาการทำงานร่วมกันอย่างกัลยาณมิตร ช่วยกันปรับปรุง พัฒนาคุณภาพของสถาบันเอกชนได้อย่างต่อเนื่องถึง 40 ปี และเป็นที่ยอมรับของชุมชนตลอดมา
2. การบริหารจัดการของสถานศึกษา
ผู้อำนวยการมุ่งเน้นการสร้างผู้นำในทีมงานนักเรียนแกนนำ เป็นภารกิจนำทำกิจกรรมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบซึมซับสู่เพื่อนเยาวชนด้วยกัน เพื่อส่งต่อภารกิจให้แกนนำรุ่นต่อไป และนักศึกษาทุกระดับชั้นที่เข้าร่วมโครงการได้ฝึกทำงานอย่างเป็นระบบโดยฝ่ายบริหารได้นำ 7 กิจวัตรความดีมาเชื่อมโยงบูรณาการกับงานวิชาการ และกิจกรรมบังคับ ขององค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย เช่น การสอนของครูทุกวิชาจะมีสัดส่วนคะแนน ระหว่างความรู้กับจิตพิสัย = 80:20 คะแนน ทั้งนี้กำหนดให้คะแนนจิตพิสัยมาจากครูประจำวิชา 10 คะแนน, มาจากสมุดบันทึกความดีที่ทำกิจกรรมผ่านเกณฑ์ 360 คะแนน > 5 คะแนนและมาจากค่านิยม 12 ประการ (อาชีวะบังคับ) >5 คะแนน
นโยบายของสถานศึกษา และการกระจายอำนาจในการทำงาน เป็นกลยุทธ์การบริหารงานที่ดีของวิทยาลัยเทคโนโลยีจันทบุรี ได้แก่
1) ครูทุกคนสอบผ่านนักธรรมเอก สามารถสอนศีลธรรมให้กับนักศึกษา
2) ครูและนักศึกษาทุกคนสอบธรรมศึกษา และธรรมะทางก้าวหน้า
3) วิทยาลัยจัดให้มีการปฏิบัติธรรม นักศึกษาปีละ 3 วัน / ครูปีละ 7 วัน
4) นักศึกษาทุกคนมีโอกาสได้ทดสอบความสามารถของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
5) ครูเยี่ยมบ้านนักศึกษา 100% ภาคเรียนละครั้ง (ปีละ 2 ครั้ง)
6) วิทยาลัยมีการกระจายอำนาจในการทำงาน ทำให้ครูมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดี เช่น การเป็นผู้ประเมินขององค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับจังหวัด (จังหวัดจันทบุรี, ตราด, ระยอง)
7) วิทยาลัยมีการส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือวิสามัญช่อสะอาด ในปีการศึกษา 2560 ได้รับธงช่อสะอาดลำดับที่ 9 ของประเทศไทย
3. สภาพทั่วไปของนักศึกษา
นักศึกษามีองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย และมีคณะกรรมการแกนนำมีภาวะผู้นำที่ดี ตอบคำถามชัดเจน ทำโครงงานคุณธรรม มีระบบพี่ดูแลน้อง โดยใช้ระบบการทำงาน ทำให้น้องเห็น น้องจะปฏิบัติตาม ส่งต่อภาระงานคุณธรรมให้รุ่นน้องได้ โดยการเน้นการทำกิจกรรมจิตอาสา ตามอัตลักษณ์ของวิทยาลัยให้ปรากฏ คือ “ จิตอาสาดี วินัยเด่น เน้นความรับผิดชอบ”
ข้อเสนอแนะในการพัฒนา ด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาให้เหมาะสมกับการเรียนรู้
1. สถานศึกษาควรมีกระบวนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โดยเพิ่ม “สะสาง” ในกระบวนการ 5 ส. ของห้องฝึกปฏิบัติงานในสถานศึกษา โดยการสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และไม่สะอาด ไม่เรียบร้อยเช่น อู่ซ่อมรถ สถานที่เก็บขยะหลังสถานศึกษา 2. สถานศึกษาควรส่งเสริม สนับสนุนให้นักศึกษาคิดรูปแบบ สื่อการสอนเพื่อน้อง โดยนำวัสดุเหลือใช้ในแผนกต่างๆ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำยางรถยนต์ (ที่ไม่ใช้แล้ว) เป็น เครื่องเล่นสนามให้กับนักเรียนระดับอนุบาล (โรงเรียนปะตงวิทยา) 3. สถานศึกษาควรส่งเสริม สนับสนุนให้นักศึกษาได้จัดบอร์ดนำเสนอผลงานจาก 7 กิจวัตรความดีให้หลากหลาย และเป็นปัจจุบัน 4. สถานศึกษาควรส่งเสริม สนับสนุนให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมขยายผล 7 กิจวัตรความดีเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับครัวเรือน เพื่อนบ้านอย่างฉันท์มิตร เช่น เล่าสู่การฟังเรื่อง 7 กิจวัตรความดี การนำความรู้วิชาช่าง และ/หรือธุรกิจช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ฯลฯ
ข้อเสนอแนะในการพัฒนา ด้านการวางแผนงานให้เป็นระบบในการดำเนินโครงการสู่ความยั่งยืน
1. สถานศึกษาควรนำโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 ครอบครัวอบอุ่นฯ ไปบูรณาการเชื่อมโยงกับโครงการ / โครงงานอื่นๆในการปฏิบัติงานประจำวัน จะเป็นรากฐานการสร้าง “ คนดี ” ได้ต่อเนื่อง ถ้ามีการบันทึกกระบวนการปฏิบัติงาน และผู้รับผิดชอบในช่วงเวลาแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน เพื่อติดตาม ( AAR : After Action Review ) ปรับปรุง พัฒนา ตามระบบคุณภาพ PDCA ก็จะเกิดการพัฒนาทั้งครูและผู้เรียนอย่างเป็นระบบ... เป็นวิสัยทัศน์ที่ส่งผลถึงคุณภาพของครูในการทำวิจัยปฏิบัติการ / วิจัยในชั้นเรียน รวมทั้ง SLC : School as Learning Community และ PLC : Professional Learning Community
2. สถานศึกษาควรเก็บข้อมูลและนำเสนอด้วยค่าสถิติ จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมกระบวนการทำกิจกรรม AAR ของครูให้เป็นปกติในการปฏิบัติงาน จนเกิดเป็นงานวิจัยปฏิบัติการ/วิจัยในชั้นเรียน ของครูแต่ละคน เมื่อนำทั้งหมดมารวบรวมกันก็จะเป็นงานวิจัยระดับสถาบันที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ของแต่ละรุ่นอย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ
3. สถานศึกษาควรติดตามวิธีการประเมินกิจกรรมทางออนไลน์ 5 ขั้นตอน ( STEP 1-5 ) โดยส่งข้อมูลเป็นระยะจนครบ 5 ดาวตามกำหนดเวลา มีการแลกเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบ ให้มีส่วนร่วมของผู้บริหาร คณะครูและผู้เรียนเพื่อร่วมกันส่งผลงานผ่านเว็ปไซต์ Sila5.com
ข้อเสนอแนะในการพัฒนา ด้านการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้นวัตกรรม 7 กิจวัตรความดีให้มีประสิทธิผล
1. นักศึกษาควรได้รับการส่งเสริม ต่อยอดทักษะด้านการสื่อสาร ที่สามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติกิจวัตรความดี หรือชี้ให้เห็นผลดีได้ โดยครูเป็นผู้กระตุ้นคำถามให้ได้ร่วมกันอภิปราย และนำเสนอในชั่วโมงสุขจริงหนอ จนสามารถแนะนำเพื่อนๆ น้องๆ หรือคนในครอบครัวเข้าใจถึงประโยชน์ของกิจวัตรความดี รวมถึงการประเมินผลผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) ในFacebook ของวิทยาลัย
2. นักศึกษาควรได้รับการพัฒนาต่อยอดในชั่วโมงสุขจริงหนอ ครูควรนำสื่อของโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 มาใช้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ในรูปแบบการตั้งคำถาม R-C-A จากการสะท้อน (Reflect) ความรู้สึกและความคิดที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรม, การเชื่อมโยง (Connect) กับประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา หรือที่ตนเองได้เรียนรู้มาแล้วเป็นองค์ความรู้ใหม่ และการนำมาปรับใช้ (Apply) ในชีวิตประจำวันของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มมาอภิปรายพร้อมนำเสนอ รวมถึงการเขียนผ่านสมุดบันทึกความดีในหัวข้อที่นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านสื่อเป็นรายบุคคล พร้อมทั้งประเมินผลและส่งผลงานผ่านเว็ปไซต์โครงการ
3. นักศึกษาควรได้รับการพัฒนาต่อยอดกระบวนการทำกิจวัตรความดีลงสู่ครอบครัวให้เพิ่มมากขึ้น โดยสถานศึกษาควรมีการวัดและประเมินผลจากกิจกรรมเยี่ยมบ้านนักศึกษาเพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองในการพัฒนาพฤติกรรมของนักศึกษา
ขอขอบคุณท่านผู้จัดการนางปฤษณา บุญจิตสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการนายประพันธ์ แจ้งสว่าง พร้อมคณะครู นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมวันนี้ทุกท่าน
19 มีนาคม 2567
16 กันยายน 2565
30 พฤษภาคม 2565
25 พฤษภาคม 2565
20 พฤษภาคม 2565
15 พฤษภาคม 2565