แรงดลใจจากครู Idol ในวัยเด็ก สู่การเติบโตเพื่อค้นพบความหมาย คำว่า “ครู” ในวันนี้

25 กรกฎาคม 2564
  •    1,886


แรงดลใจจากครู Idol ในวัยเด็ก สู่การเติบโตเพื่อค้นพบความหมาย

คำว่า “ครู” ในวันนี้

 

คุณครูภัทราภรณ์ เจริญชนม์ (ครูจ๊ะโอ๋) วิทยาลัยการอาชีพกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

 

หลังจากที่จบการอบรมหลักสูตร Goal-Setting-Coaching ไป ทางโครงการได้เปิดไป 4 รอบ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจนถึงต้นกรกฎาคม 64 ที่ผ่านมา มีครูผู้เข้าอบรมมากกว่า 200 คน ทางทีมงานโครงการรักษาศีล 5 เลยมีแนวคิดว่า อยากหาตัวอย่างครูสักคนที่มีเป้าหมายชัดๆ ในวัยเด็ก แล้วเป้าหมายนั้นมีแรงดลใจมากพอที่พลักดันให้ก้าวสู่ความจริงในวันนี้

จะด้วยความโชคดี หรือเรื่องบังเอิญก็ตาม วันนี้เรามีโอกาสได้ zoom สัมภาษณ์คุณครูภัทราภรณ์ เจริญชนม์ จากวิทยาลัยการอาชีพ กุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เส้นทางเดินสายอาชีพครูของเธอนั้น มีสีสัน ได้แง่คิด เธอเล่าให้ทีมงานเราฟังอย่างตรงไปตรงมา อย่างหมดเปลือกกันเลยทีเดียว เดี๋ยวเราจะชวนคุณผู้อ่านไปพูดคุยกับเธอกัน

 

ครูโอ๋จบอะไรมาครับ ถึงมาอยู่ที่วิทยาลัยการอาชีพเนี่ยครับ?

โอ๋ พึ่งเข้ามาเป็นครูที่นี่ (วิทยาลัยการอาชีพ กุมภวาปี) เทอมนี้ค่ะ คือ 1 มิถุนายน (64) ก่อนหน้านี้เป็นครูเอกชนมาก่อนค่ะ โอ๋เรียนศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) แล้วเมื่อปี 62 ก็ไปเรียนต่อใบประกอบวิชาชีพครูค่ะ แล้วก็ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาค่ะ(64) ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็อยู่กับโรงเรียนเอกชน ตอนนั้นยังไม่ได้มีความคิดจะเป็นครูค่ะ ก็เลยสอนไปเรื่อย ๆ 5 ปี.. 6 ปี ก็เลยเริ่มรู้สึกว่า ทางนนี้แหละ คงเป็นทางของเรา เลยตั้งใจศึกษาต่อ แล้วก็มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเรา กับการพัฒนาของเด็กค่ะ

เราเห็นการเปลี่ยนแปลง เราเห็นความก้าวหน้าของเด็ก จากสิ่งที่เราแบ่งปัน จากสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลง มันมีมุมมองเกิดขึ้น มีจุดเปลี่ยนหลายอย่างค่ะ เลยทำให้โอ๋กลายมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เน้นในเรื่องของจิตใจ เรื่องของโลกภายในด้วยค่ะ

 

คำว่า “เปลี่ยนแปลง” ของครูโอ๋เนี่ย คืออะไรครับ หมายถึงตัวของนักเรียน หรือของครูโอ๋เองครับ

มันมีเรื่องราว ตอนที่เราเป็นครูน่ะค่ะ ในตอนนั้นเราเข้าใจและมีความรู้สึกแค่ว่า เรามีหน้าที่แค่ต้องสอน แล้วเราก็เรียนมาแค่ทฤษฎีนะคะ เราเรียนแค่ภาษาอังกฤษ เราก็แค่มีหน้าที่ต้องสอนให้นักเรียนรู้ว่า ภาษาอังกฤษคืออะไร มีคำศัพท์นี่..นี่ นะ แล้วก็ให้เด็กเห็นความสำคัญ มันก็แค่นั้น

แต่ทีนี้มันมีอยู่ช่วงเวลานึงที่เรามีคำถามในใจ คือโอ๋ไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็กถึงไม่เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ แล้วเด็กที่เรียน ก็เป็นเด็กวิชาชีพ ซึ่งจริง ๆ แล้วเนี่ย เด็กช่างน่ะจะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับพวกอุปกรณ์ต่าง ๆ น่ะค่ะ รวมถึงเครื่องยนต์ต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว

 

มันมีอยู่ช่วงเวลานึงที่เรามีคำถามในใจ คือโอ๋ไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็กถึงไม่เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ

 

เผอิญมันมีอยู่วันนึงที่โอ๋ชวนเด็ก ๆ เปลี่ยนบรรยากาศจากการนั่งเรียนกลายเป็นการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ซึ่งให้เค้าน่ะมีบทบาทในการเรียนการสอนของเรา ด้วยการออกแบบชั้นเรียนบ้าง ด้วยการที่ทำให้เค้าได้ระบายสีบ้าง ด้วยการที่ทำให้เค้า ได้ทำอะไรแบบ... มือขยับความคิดเคลื่อนเนี่ย เออ... เราก็รู้สึกว่า ดีนะ

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ โอ๋ย้อนนึกไปอยู่ช่วงนึงค่ะ ที่โอ๋ได้ไปเข้าร่วมโครงการจิตตปัญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรางวัลที่เราไปแข่งขันของศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วทำให้เราได้เข้าร่วมโครงการค่ะ

ตอนเข้าไปอยู่โครงการใหม่ๆ แรกๆ ก็งง ๆ ค่ะ ว่า นี่ เอ๊ะ... อะไร แต่พอเราเข้าไปศึกษา ไปเข้าร่วมโครงการจริง ๆ ตลอดระยะเวลา 1 ปีเนี่ย มันทำให้เราเปลี่ยนแปลงมุมมองจากที่เรามองเด็กว่า คุณมีหน้าที่แค่รับความรู้จากเรานะ แต่ความเป็นจริงน่ะคือ เค้ากำลังซึมซับในสิ่งที่เราเป็นค่ะ คือเราเป็นยังไงต่อหน้าเค้า เค้าจะเป็นแบบนั้นกับเรา แล้วพอเราเปลี่ยนแปลงวิธีพูด จากที่เราเคยมีคำถาม ที่อยากให้เค้าตอบ เค้าก็จะตอบในภาวะทแบบปกป้องตัวเองน่ะค่ะ ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง

ตัวอย่างเช่น เวลาที่เด็กเค้าเข้ามาเรียนสายปุ๊บเนี่ย เราจะตัดสินเค้าทุกอย่างเลย เราน่ะตัดสิน เราคิดเองน่ะค่ะ แล้วเราก็พูดออกไปในสิ่งที่เราคิด แต่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อน เราไม่รู้เลยว่า อ้อ... เวลาพวกเค้าถูกเราตัดสินเนี่ย เขารู้สึกยังไง คือเราไม่เคยรู้มุมนี้มาก่อน

แต่ทีนี้พอเราเข้าไปเอง เราไปสัมผัสจริง ๆ เรามาเห็นจริง ๆ ว่า การที่เราถูกตัดสิน หรือวิธีพูดที่เราพูดกับเด็กออกไปเนี่ย มันทำให้เขายิ่งห่างเราออกไป ไม่ว่าจะเป็นห่างทางกายหรือว่าห่างทางใจน่ะค่ะ มันห่างหมดเลย

หลังจากนั้นก็เลยเกิดการเรียนรู้ว่ามันคืออะไร แล้วก็ค่อย ๆ ปลดล็อคตัวเอง อันดับแรกคือ โอ๋ปลดล็อคตัวเองก่อน คือวิธีพูดโอ๋เปลี่ยน วิธีการสอนโอ๋ก็เปลี่ยน ซึ่งจากเดิม เราจะให้เด็กเป็นพาสซีฟ (Passive) คือ เราอยู่ข้างหน้า แล้วเด็กก็นั่ง แล้วก็จดนะ แล้วก็คิดตาม แต่หลังจากนั้นพอเรารู้สึกว่า การเรียนแบบพาสซีฟ (passive) มันรู้สึกน่าเบื่อ มันรู้สึกอึดอัด เพราะเราเองได้ไปสัมผัสตอนที่เราเป็นนักศึกษาวิชาชีพครู เราก็เห็นแล้วว่า การที่นั่งเฉย ๆ มันไม่ได้ขับเคลื่อน มันไม่ได้แอคทีฟ (active) อะไรเลย มันไม่เกิดการเรียนรู้ และมันไม่เกิดการจดจำ

ตอนที่โอ๋ไปเรียนวิชาชีพครูมา โอ๋เรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีคณะครูอาจารย์ที่มากประสบการณ์ค่ะ แล้วท่านก็แบ่งปันเทคนิคโน่นนี่นั่นให้เราได้หยิบมาใช้น่ะค่ะ กลายเป็นว่าเราเปลี่ยน เปลี่ยนเทคนิคการนั่งเรียนแบบพาสซีพกลายเป็นแอคทีฟไปเลย แล้วเราก็เอากระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม เกม แต่สุดท้ายเราก็มุ่งเป้าหมายเดียวกันคือ ตามวัตถุประสงค์ของสมรรถนะรายวิชาภาษาอังกฤษของวิชาชีพค่ะ ทุก ๆ หน่วย คือ เราเพียงแค่คิดว่าทำยังไงก็ได้ให้ไปถึงเป้าหมาย วิธีการมันจะแตกต่างกัน

ดังนั้น เด็กก็เลยรู้สึกว่า เด็กชื่นชอบในการเรียนการสอนของเรา และอีกอย่างคือ เราก็ไม่ค่อยอยู่ในห้องน่ะค่ะ คือเราจะพาออกมาสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเนเจอร์คอนเนคชัน (nature connection) ใดใดก็แล้วแต่ กระบวนการเคลื่อนขยับตัวเอง สภาวะต่าง ๆ ที่เราสร้างมันขึ้น มันคือสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กค่ะ

 

ทุกครั้งที่เด็กมาเรียนก็อยากให้เกิดความสุข ถ้าเกิดว่าเด็กไม่มีความสุขในการเรียน เราจะเห็นพฤติกรรมที่แสดงออกได้

 

 

สิ่งที่โอ๋มองคือ มันไม่ใช่แค่เรา วิธีพูดของเรา อากัปกิริยาของเรา สภาพแวดล้อม มันคือสิ่งดึงดูดให้เขาอยากมาเรียน ดังนั้นตอนโอ๋ที่เปลี่ยนแล้วก็ใช้เวลาในการเรียนรู้ โอ๋ถึงขั้นศึกษาทฤษฎีนู่นนี่นั่นมาว่ามันคืออะไร แล้วเราก็เลยได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า จริง ๆ แล้วเด็กขับเคลื่อนโลกภายในด้วยสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา คือ รอบ ๆ ตัวเขาเป็นยังไง เขาก็จะเป็นแบบนั้น

แล้วเด็กที่โอ๋กำลังสอนอยู่น่ะ เขาไม่ใช่เด็กในเมืองค่ะ เขาเป็นเด็กชนบทเลยแหละ แล้วพ่อแม่เขาก็คือ... ถ้าพูดกันแบบภาษาพื้น ๆ คือ พ่อแม่ไม่ได้มีการศึกษา ทำไร่ทำนา เกษตรกร ยิ่งพวกเขาไม่รู้เลยว่าวิธีการสอนบุตรหลานของเขาจะต้องเป็นอย่างไร มันกลายเป็นว่าพ่อแม่ฝากความหวังไว้ที่เราเอง ดังนั้น สิ่งที่เขามีความสุขคือการที่เขามาเรียนที่วิทยาลัย

key word ของโอ๋เลยนะ ทุกครั้งที่เด็กมาเรียนก็อยากให้เกิดความสุข ถ้าเกิดว่าเด็กไม่มีความสุขในการเรียน เราจะเห็นพฤติกรรมที่แสดงออกได้ ไม่ว่าจะเป็นทางสีหน้า แววตา อะไรต่าง ๆ ท่าทางมันออกมาหมดค่ะ ซึ่งเราก็จะมีวิธีการของเรา...อาจจะคุยส่วนตัว หรืออาจจะทำให้บรรยากาศชั้นเรียนดีขึ้น ตัวเขาเองก็จะรู้สึกอยากเรียนมากขึ้น แล้วก็มีความสุขเวลาที่เขามาเจอชั้นเรียนของเรา อันนี้ก็เป็นเรื่องราวของโอ๋ค่ะ

น่าสนใจมากครับ คือ... ตอนนี้น่ะมันมีความขัดแย้งกันในการที่ครูโอ๋ได้เข้ามาโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 ครับ ครูโอ๋สอนภาษาอังกฤษ ครูโอ๋สอนเด็กวิทยาลัยการอาชีพ แต่ทำไมถึงสนใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรมครับ เพราะผมมีความรู้สึกว่า ภาษาอังกฤษกับคุณธรรมจริยธรรมมัน contrast กันมากเลยนะ

มันไม่ไปด้วยกัน (ยิ้ม) ใช่ มันมีจุดที่โอ๋คิดอยู่อย่างนึง ตอนที่โอ๋เรียนปริญญาตรีน่ะค่ะ จริง ๆ โอ๋เป็นคนชอบการ communicate แล้วเราก็สงสัยตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมเราไม่อยากเป็นหมอเหมือนเพื่อนนะ ทำไมเราไม่อยากเป็นอะไรอื่นๆ เหมือนเพื่อน

 

โอ๋ก็ขับเคลื่อนตัวเอง ด้วยการบอกกับตัวเองว่า ใช่ ๆ ฉันจะเป็นครู


แต่ทีนี้เรามารู้ตัวเองก็คือ อ้อ... มันคือ competency (ความสามารถเด่น) ของเรา มันคือทักษะที่เรามีกับตัวเราเองน่ะค่ะ แล้วเราน่ะไปชื่นชอบอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นอาจารย์ผู้หญิงตอนเรียนมัธยม แล้วโอ๋ก็เห็น อุ๊ย...อาจารย์สวยจังเลย เวลาอาจารย์พูดภาษาอังกฤษทำไมดู proud (ดูเด่น/ดูภาคภูมิ) จังเลยอ่ะ มันดูอู้ว มันดูว้าว มันดู amazing นะคะ แล้วเราน่ะอยากเป็น จุดมันอยู่ตรงเนี้ย จุด climax ของเรื่องก็คือ เฮ้ย...เรามี idol อื่ม...ใช่ เรามี idol (นี่คือกระบวนการเห็นภาพในหัว ใน ช.ที่ 2 “ชวนคิด” ของทฤษฎี 3ช ในมโนภาพของเด็ก ...จากสัมมนา Goal-Setting-Coaching โดยผู้เขียน)

แล้วหลังจากนั้นน่ะค่ะ โอ๋ก็ขับเคลื่อนตัวเอง ด้วยการบอกกับตัวเองว่า ใช่ ๆ ฉันจะเป็นครู ลึกๆ แล้ว ไม่ได้อยากเป็นครูนะคะ คือแค่อยากพูดภาษาอังกฤษเป็นเฉย ๆ ตอนที่เรียน (หัวเราะ)

พอเรียนจบน่ะค่ะ ด้วยทักษะ ด้วยสิ่งแวดล้อมที่โอ๋เป็น ครอบครัวโอ๋เป็นครู เอ่อ...ครอบครัวโอ๋ทำงานราชการค่ะ แล้วสิ่งแวดล้อมมันทำให้เราเป็น เอ้า...อยู่ ๆ ก็กลายเป็นครูสอนภาษาอังกฤษเฉยเลย ก็เลยอ่ะ...อ่ะ...เป็นก็เป็น

แต่พอหลังจากเป็นครูแล้ว เราก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรค่ะ ทำงานเอาเงินเดือนไป ไม่ได้คิดอะไร เพราะว่าเราเองก็มีปัญหาเรื่องครอบครัว ครอบครัวมี background ไม่ดีอยู่แล้ว ถึงแม้คุณพ่อจะเป็นราชการ คุณแม่เป็นแม่บ้าน มันก็ไม่ได้หมายความว่า เรื่องราวชีวิตของเราจะดีนะคะ เราเรียนรู้ด้วยตัวเองค่ะ แล้วเราก็เปลี่ยนตัวเอง คือการเรียนรู้แล้วการเปลี่ยนแปลงมันจะค่อย ๆ ขยับขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่โอ๋ไม่เข้าใจว่าเป็นอะไร เพราะอะไรโอ๋ถึงเกิดความทุกข์ เพราะอะไรโอ๋ถึงไม่เกิดความสุขอย่างนี้

ทีนี้โอ๋ก็เลยมองไปในชั้นเรียนว่า เออนะ โอ๋น่ะเป็นคนที่ขยัน แต่โอ๋ไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่ง โอ๋เป็นคนที่ขยันมาเรียนทุกวันเลยต้องมาเรียนก่อนเพื่อนเลย มานั่งหน้าตลอด โอ๋มีความผิดปกติก็คือ หูด้านขวาโอ๋ประสบอุบัติเหตุค่ะ โอ๋จะไม่ได้ยินด้านนี้เลย แล้วโอ๋จะพยายามแก้ไขด้วยการรักษาหูข้างซ้ายของตัวเองให้ดีที่สุด ดังนั้นตลอดเกือบ 10 ปีที่โอ๋เป็นครูมาเนี่ย เอ่อ... ถ้าเด็กเรียกข้างนี้คือจะไม่ได้ยิน (หัวเราะ) เด็กก็มักจะตัดสินครูว่า โห...หยิ่ง อะไรอย่างนี้

แต่พอเค้าทราบจริง ๆ เค้าก็อ๋อ... โอเค ไม่สงสัยแล้ว หลังจากนั้นโอ๋ก็เลยรู้สึกว่า มันมีปัจจัยปัจจัยนึงนะที่ดึงดูดให้เราอยากทำอะไรก็ตามโดยที่เราไม่รู้สึกอึดอัด มันคือภาวะของความสุขที่เกิดขึ้นภายใน เหมือนตอนที่ทำไมโอ๋อยากเรียนภาษาอังกฤษ อ๋อ... โอ๋ชอบอาจารย์คนนึง โอ๋ถึงอยากมาเรียน พอมาในปัจจุบัน เด็กก็เป็นนะคะ เด็กไม่ชอบภาษาอังกฤษแต่เด็กชอบครูโอ๋ เพราะครูโอ๋ไม่ต้องให้นั่งเฉย ๆ เออ... อันนี้เด็กก็เป็น

ดังนั้นเด็กก็จะจำ จดจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปได้เองโดยที่เขาไม่รู้สึกอึดอัดใจ หรือเขาไม่รู้สึกว่าฉันต้องทำเหรอ แต่ยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้หรือกิจกรรมการเรียนรู้ในชั่วโมงนั้น มันจะทำให้เขาจำได้เองโดยอัตโนมัติ โอ๋จะเป็นคนที่มีเกมมีนู่นนี่นั่นมา

  


จุดเปลี่ยนทัศนคติทางการสอน

แล้วมันมีเรื่องอยู่เรื่องนึงนะ แต่ก่อน คือโอ๋ไม่เข้าใจว่า ทำไมโอ๋ต้องสร้างสรรค์นะ โอ๋น่ะงงว่า เป็นครูมันก็สอนตามแผนไม่ใช่เหรอ ตอนนั้นน่ะโอ๋งงมากเลย ไม่ต้องสร้างสรรค์ได้ไหม แผนก็มีมาแล้วน่ะ แต่สุดท้ายพอโอ๋มานั่งดูแผนจริง ๆ น่ะ แผนการเรียนการสอนนี่แหละคือตัวตีกรอบให้นักเรียน ที่มันเกิดภาวะอึดอัด

เด็กจะเกิดภาวะปกป้องตัวเอง คือ เวลาเด็กมาสายปุ๊บ ถ้าเราพูดว่า “เอ้ย... ทำไมมาสายวันนี้ เนี่ยรู้มั้ยเนี่ยกี่โมงแล้วเนี่ย” เด็กจะเกิดภาวะป้องตัวเอง คือแก้ตัวไปเรื่อย ๆ โดยที่เราก็ไม่ได้ความจริง ซึ่งถ้าเกิดเราเปลี่ยนวิธีพูดใหม่ แล้วก็โทนเสียงใหม่ น้ำเสียงใหม่ เออ... เราอาจจะได้ข้อมูลจริง ๆ มา เราจะได้หรือไม่ได้ข้อมูลในตอนนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือเราไม่ต้องคาดเค้นเอาเดี๋ยวนั้น...ก็ได้ ก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้นไปเอง

 

“ในฐานะที่เราเป็นครูเราก็ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของแต่ละคน แม้กระทั่งต้นไม้ที่อยู่หน้าเราหรือว่าอยู่ล้อมรอบตัวเราเนี่ย เค้าก็เติบโตได้ไม่เท่ากัน ภาวะการเติบโตมันไม่เท่ากัน เราต้องเข้าใจตรงนี้ด้วยว่า เราจะให้เด็กได้ตามตัวชี้วัดของเราทุกคน มันเป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์”

 

แต่ทีนี้มันมีอีกเรื่องนึงค่ะ พอหลังจากที่โอ๋เห็นจุดเปลี่ยนตัวเองแล้ว ก็รู้สึกว่ามันดีนะ คำว่า “ดีนะ” นี่มันเกิดขึ้นกับตัวเองก่อนค่ะ หลังจากนั้นโอ๋ไปเห็นเด็กคนนึงในวิทยาลัยเดิมเนี่ย เขาไม่มีความสุข เค้าเดินมาแล้วเค้าคอตก เราเห็นภาวะนั้นแล้วเราเลย เฮ้ย... มันโอเคเหรอ

โอ๋ไม่โอเคเลยนะกับการที่เด็กคนนึงต้องมาเรียนแล้วแบบ... หน้าตาเค้าเศร้ามาก แววตาเค้าคือไม่มีความสุข เค้าไม่อยากมาเรียนแต่เค้าต้องมาเรียน เค้าเจอภาวะอย่างนึงที่เค้าถูกเปลี่ยนแปลงโดยที่เขาไม่ยอมรับน่ะค่ะ เออ... มันก็เลยทำให้โอ๋ ยื่นมือเข้าไปช่วย พอหลังจากนั้นก็ใช้เวลาไม่นานในการช่วยเหลือเค้าไปเยียวยาเค้า

จริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ มันไม่ใช่จากโอ๋น่ะค่ะ มันมาจากตัวเค้าเอง เราแค่เป็นคนใส่ mindset ให้เค้าใหม่ ชวนเค้าคิดใหม่ ชวนเค้าวางแผนใหม่ ชวนเค้าทำเรื่องใหม่ ๆ แต่เค้าจะทำหรือไม่ทำ มันเป็นเรื่องของเค้า...ค่ะ

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนนะคะที่โอ๋จะทำแล้วประสบความสำเร็จ เพราะภาวะของแต่ละคนมีความพร้อมที่ไม่เท่ากัน ในฐานะที่เราเป็นครูเราก็ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของแต่ละคน แม้กระทั่งต้นไม้ที่อยู่หน้าเราหรือว่าอยู่ล้อมรอบตัวเราเนี่ย เค้าก็เติบโตได้ไม่เท่ากัน ภาวะการเติบโตมันไม่เท่ากัน เราต้องเข้าใจตรงนี้ด้วยว่า เราจะให้เด็กได้ตามตัวชี้วัดของเราทุกคน มันเป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

อันนี้โอ๋ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ แล้วก็ค่อย ๆ เข้าใจ หาวิธีการอันอื่นที่มันเหมาะสมสำหรับเค้า มันคงไม่ใช่วิธีนี้วิธีเดียวอ่ะค่ะที่จะตัดสิน หรือไม่ใช่ข้อสอบชุดนี้ชุดเดียวที่จะตัดสินว่าเด็กคนนี้ฉลาดหรือว่าเด็กคนนี้โง่ เราในฐานะคุณครูเราต้องสามารถดัดแปลง เปลี่ยนแปลงอะไรที่มันเป็นเค้า เหมาะสมสำหรับเค้าอ่ะค่ะ ซึ่งมันไม่ใช่วิธีการที่เราจะไปบอกว่า นี่คือวิธีเดียวแล้วทุกคนจะต้องผ่าน อ่ะ... โอ๋ไม่มองแบบนั้นค่ะ โอ๋มองว่า เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ อะไรที่เป็นเค้าก็ปล่อยให้เป็น competency หรือเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบไปดีกว่า โดยที่เค้าไม่เกิดภาวะอึดอัด

 

ความสุขที่คุณครูโอ๋ หรือว่าความเติบโตทางด้านจิตใจที่บอก มันเกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรมที่ครูโอ๋อยากจะให้เป็นไหมครับ? มันมีความแตกต่างตรงไหนหรือเปล่า? อย่างไรครับ?

ค่อนข้างสอดคล้องกันมากเลยค่ะ โดยเฉพาะโครงการรักษาศีล 5 ว่า จริง ๆ มันเป็นเรื่องที่เด็กรู้ตั้งแต่เกิด เพราะคุณพ่อคุณแม่พาเด็กเข้าวัดอยู่ตลอดเวลา แต่สุดท้ายแล้วเด็กไม่เห็นความสำคัญ เพราะเค้าไม่มีตัวตน เวลาที่เด็กเค้าทำสิ่งดี ๆ ออกมาเนี่ย เค้าไม่เคยถูกชื่นชมในเวลาที่เค้าทำดีแล้ว คือทุกคนต่างมองว่า เอ้า... ก็ดีแล้ว ก็ปกติ


อย่าปล่อยให้คำว่า “ปกติ” จนมองข้ามความโดดเด่น

คือคำว่าปกติ คือมันไม่โดดเด่น โอ๋มองว่าการที่ดอกไม้จะเกิดขึ้นมาบนต้นไม้สักต้นนึง นั่นน่ะค่ะคือความโดดเด่นของเค้า ไม่ว่ามันเป็นเรื่องเล็กหรือมันเป็นเรื่องใหญ่ บางคนเนี่ยมองเรื่องการวาดรูปหรือมองเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำ แต่โอ๋มองว่าทุก ๆ เรื่องน่ะค่ะ มันคือความงดงาม ทุกคนมีจุดที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง

การที่เด็กคนนี้ขยันตอบในชั้นเรียน นั่นก็คือตัวตนของเค้า การที่เด็กคนนี้เนี่ย เอ่อ... ตั้งใจฟัง มันก็คือความโดดเด่นของเค้า การที่เด็กคนนี้พยายามมีความเป็นผู้นำในห้องเรียน มันก็คือภาวะของเค้า ซึ่งภาวะตัวตนของแต่ละคน โอ๋ว่ามันไม่ควรให้ภาวะของใครไปกดขี่ภาวะของใครค่ะ คือใครโดดเด่นแบบใดก็แบบนั้น

ดอกไม้แต่ละประเภทก็แตกต่างกัน เรารู้สึกว่า ถ้าเด็กทำอะไรที่เป็นคุณงามความดีแล้วเราชื่นชม แม้ว่าจะเป็นการเก็บขยะในห้องเรียน โดยที่ยังมีขยะอยู่ แต่คนอื่นไม่เห็น แต่เขาเห็น แต่สุดท้ายพอเค้ากำลังจะเดินออกไปเราก็ชื่นชมเค้า โอ้โห... ดีมากเลย สุดยอดมากเลย ครูชื่นชมนะเนี่ย เราเป็นคนที่รักษาความสะอาดมาก มาเดี๋ยวครูให้คะแนนไปเลย

เราก็จะมีวิธีพูดของเราที่ไม่จำเป็นจะต้องให้เขาไปถูกชื่นชมต่อหน้าคนเป็นร้อยหรือคนสองสามพันคน เราชื่นชมเค้าแบบ face to face เค้าก็รู้สึกดีแล้วค่ะ เพราะฉะนั้นการที่เค้าทำอะไรแล้วคนอื่นเห็น แต่มันไม่ต้องว้าวขนาดนั้น มันเป็นจุดเล็ก ๆ เค้าก็จะรู้สึกว่า จุดเล็ก ๆ เค้าทำความดีเล็ก ๆ ที่ไม่มีคนเป็นร้อยเห็น แต่มีครูโอ๋คนนึงเห็นเนี่ย เค้าก็รู้สึกดี

แล้วก็เรื่องของความรับผิดชอบ ระเบียบวินัยต่าง ๆ เรื่องการแต่งกาย โอ๋เชื่อค่ะว่ามันเป็นเรื่องของสภาวะแวดล้อมที่บังคับ เช่น ถ้าเค้าแต่งตัวเรียบร้อย แล้วเพื่อนเค้าแต่งตัวไม่เรียบร้อย มันก็จะเป็นภาวะประมาณฉันชดูแตกต่าง ดังนั้นชฉันก็เลยต้องก็เหมือนเพื่อน มันก็เลยทำให้เค้าอ่ะต้องไม่เรียบร้อยเหมือนเพื่อน แต่โอ๋ก็จะมีวิธีของโอ๋ เช่น ในนี้มันจะมีคะแนนจิตพิสัยเนอะ ดังนั้นครูจะเชิญชวนทุกคน ครูจะให้คะแนนจิตพิสัยเต็มเลย แต่ว่าอ่า... จะมีข้อแลกเปลี่ยนกับครูนิดนึงว่า เราจะต้องมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ แล้วก็สิ่งนี้ ซึ่งเราก็วางกฎของเรา

  


กฏระเบียบ vs เชิญชวน

เวลาเราพูดคุยกับเด็ก เราจะไม่พูดว่ากฎระเบียบนะคะ โอ๋จะใช้คำว่า “เชิญชวน” ให้ทำแบบนี้ เพื่อครูจะได้ให้คะแนนเราได้เต็ม ดังนั้น การที่เค้ามีความเป็นระเบียบ วางรองเท้าหน้าห้อง แต่งกายเรียบร้อย มันก็คือการโน้มน้าวของโอ๋เอง แล้วพอเค้าทำปุ๊บ เราเนี่ยก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย ถ้าเราบอกว่าเราจะให้คะแนน เราก็ต้องให้จริง ๆ เราไม่ใช่ พูดแล้วก็ไม่ให้ (ก็ทำแล้วก็ดีสิ)

แต่เด็กเค้ามองนะคะว่า เอ้า... ครู ครูพูดแล้วทำไมครูไม่ทำอ่ะ เค้าจะ reflec (สะท้อน) เราแบบนี้ ดังนั้นถ้าเกิดเราทำอะไร เราพูดอะไร เราสัญญาอะไรกับเค้าไว้อ่ะค่ะ เค้าจะจำได้แม่นกว่าสิ่งที่เค้าสัญญากับเราซะอีก ดังนั้นเราต้องเป็นตัวอย่างให้เค้าค่ะว่า ถ้าเราพูดอะไร เราให้คำมั่นสัญญาอะไร เหมือนเป้าหมายที่เด็กเขียนไว้สามอย่างนั้นน่ะ

เออ.. ถ้าเค้าเห็นว่าเราพูดอะไรแล้วเราทำ เค้าจะเริ่มไปโฟกัสที่สิ่งที่เค้าเขียนแล้วล่ะว่า ขนาดครูยังทำเลยอ่ะ แล้วเราล่ะ มันจะได้มีการ comparison (เปรียบเทียบ) กันล่ะ เราเองไม่ได้ปล่อยให้เด็กทำหรือสร้างเป้าหมายอย่างเดียวนะคะ คือเราอ่ะจอยกับเด็กด้วย คือเราอ่ะ ก็เอาเป้าหมายของเราไปแชร์กับเด็กว่า ครูจะทำอันนี้นะ เพื่อให้เกิดเป็นเนื้อหนังเดียวกันน่ะค่ะ เหมือน ๆ เอ้า... ครูทำผมก็ทำสิ อย่างนี้ค่ะมันก็จะไม่มีความเหลื่อมล้ำกัน

คือโอ๋จะพยายามทำให้ทุกอย่างเราอยู่ในสถานะเท่าเทียมกับเด็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไปลดตัวเท่ากับเด็ก แต่ให้เด็กรู้ว่า ความรู้สึกเวลาที่เค้าเห็นเราเนี่ย เกิดความไว้วางใจกัน มันจะมีภาวะที่ อุ้ย... อยากทำจังเลย แล้วก็เกิดความดี ความงาม ความชื่นชอบ แล้วก็กลายเป็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความสุข ทำโดยที่ไม่ต้องอึดอัดใจ จัดที่นอนได้ จัดเก้าอี้ได้ คือ ห้องเรียนนี่โอ๋จะต้องจัดเก้าอี้ทุกครั้งเวลาที่เลิกเรียน ปิดไฟ ปิดพัดลม ให้เขามีความรับผิดชอบทุกอย่าง โดยที่เราจะไม่บอกว่าเธอต้องทำ แต่โอ๋จะบอกว่า ครูเชิญชวนให้ทำเนาะ มันจะรู้สึกดีกว่าค่ะ ประมาณนี้ค่ะ

 

 

ตอนนี้ครูโอ๋ ได้สมุดบันทึกความดีรึยังครับ? ได้แจกให้นักศึกษาไปรึยัง?

นักเรียนยังไม่ได้มาที่โรงเรียนเลยค่ะ มาแล้วก็มาไม่ครบ มาเพียงแค่ 10 คน ดังนั้นโอ๋จึงไม่แจก แต่ว่าจะมีเด็ก จะมาอีกทีประมาณหลัง 16 กรกฎาคม ตอนนั้นน่ะค่ะ โอ๋ถึงจะได้แจก

ครูโอ๋ ลองดูในสมุดบันทึกความดีแล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับ ตัวของเล่มสมุดบันทึกความดี หรือเครื่องมือของโครงการรักษาศีลห้าที่ให้ไปน่ะครับ

โอ๋มองว่า …มันมีอยู่คำนึงที่โอ๋ฟัง แล้วรู้สึกชอบค่ะ เหมือนเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนะ คือมีแบบ one stop service คือมีทุกอย่างที่เรารู้สึก เรารู้สึกอยากชวนให้เด็กทำ แล้วก็อยากให้เด็กบันทึกเป็นรูปธรรม เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่การกระทำของเค้าเนี่ยมันมีคุณค่า แล้วเรามองเห็น

โอ๋ก็เลยรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์สำหรับตอนที่โอ๋อยากชวนให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเห็นคุณค่าอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเค้า ดังนั้นตอนที่โอ๋ได้หนังสือเล่มนี้มา โอ๋ก็ยังงง ๆ อยู่นะคะว่าทำยังไง ทำอะไรต่อ แต่พอเข้าไปดูจริง ๆ แล้วเนี่ยมันคือเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเค้า ตั้งแต่เค้าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนถึงตอนนี้ ถ้าเปรียบก็คือ เขาจบ ม. 6 ปวช. บางคนไม่เคยทำเล่มนี้ แล้วเขาก็ยังไม่เห็นความสำคัญกับการที่เค้าต้องทำแบบนี้

แต่เมื่อถ้าเค้าได้ทำ โอ๋เชื่อค่ะว่า เค้าจะเห็นความสมบูรณ์หรือถ้าเค้าทำสำเร็จจริง ๆ โอ๋มองว่ามันจะเป็นความภาคภูมิใจของเขาทีเดียวค่ะ ว่าเขาสามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างสม่ำเสมอ แล้วมันจะเกิดเป็นภาวะคุ้นชิน โดยที่เขาทำโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรู้สึกว่าต้องมีใครมา บอก ก็เลยมองว่ายังไงมันต้องเป็นเรื่องที่งดงามแน่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเค้าเองด้วยค่ะ

 

 

Credits

Guest ภัทราภรณ์ เจริญชนม์ (ครูจ๊ะโอ๋)

Interviewer นิพันธุ์ ทาดี

Transcript กนกกาญจน์ กาญจนรัตน์

Author กมล ชาญศิลปากร นักพัฒนาเว็บฟรีแลนซ์ ที่ชอบงานไอทีเป็นชีวิตจิตใจ แต่ก็สนใจงานด้านพัฒนาจิตใจและศีลธรรม
เพราะเชื่อว่า ความรู้มันต้องอยู่คู่กับความดี

 


  •    1,886