นิทานอุทาหรณ์ เตือนใจ เรื่อง คนตัดไม้
23 กรกฎาคม 2562
อิทธิบาท 4
“ก่อน อื่น เราต้องแน่ใจว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ เมื่อแน่ใจแล้ว เราต้องต่อสู้ไปให้ถึงความสำเร็จโดยไม่ท้อถอย”
คุณธรรมที่เรียกว่า “อิทธิบาท 4” ซึ่งประกอบด้วย:
ฉันทะ หรือมีใจรัก ถือว่าสำคัญมาก การฝืนทำอะไรที่ไม่ได้เกิดจากความพอใจ หรือศรัทธาของเราจริงๆมีแต่สร้างความทุกข์ทรมาน ความเครียด แม้จะได้บางสิ่งที่มุ่งหวังก็ตาม ตรงนี้เป็นจุดที่คำแนะนำของอาจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์มีค่า
คุณจะสร้างความรักสิ่งที่คุณทำได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีศรัทธาว่าสิ่งที่คุณทำเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตัวเองและต่อผู้อื่น หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องดีจริง ก็จงมุ่งมั่นที่จะทำด้วยความตั้งใจ และหากไม่ดีก็คงต้องเปลี่ยนแปลงศรัทธาเสียใหม่ เช่น หากเราคิดเบื่องานที่เราทำ เราลองเปลี่ยนมุมคิดของเราด้วยการสร้างศรัทธาใหม่ แทนที่คุณจะทำมันด้วยศรัทธาต่อลาภยศสรรเสริญ นั่นคือเพื่อเงินเดือน เพื่อคำชม เพื่อตำแหน่งของคุณเอง คุณลองเปลี่ยนศรัทธาเป็นการสร้างความสุข หรือแก้ความทุกข์ แก้ปัญหาให้แก่ผู้ที่คุณให้บริการ มันจะทำให้คุณมีพลังในการต่อสู้กับความเหน็ดเหนื่อย ต่อความเบื่อหน่ายได้อย่างดียิ่ง
วิริยะ คือความเพียรพยายาม เป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ ความเพียรนี้มีปรากฏอยู่ในธรรมะหลายหมวด เช่น พละ 5 ธรรมอันเป็นกำลังให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นต่อภัยทุกอย่าง, โพชฌงค์ 7ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้, บารมี 10 คุณธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด
วิริยะ หรือ ความเพียรเกิดจากฉันทะ หรือ ความศรัทธาในสิ่งที่ทำ และ ต้องมาคู่กับความอดทนอดกลั้น ไม่ย่อท้อต่อปัญหา หรือ ความท้าทาย และมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย
เปรียบเหมือนเม็ดทรายเม็ดเล็ก ๆ ที่ซัดผ่านก้อนหินทุกวัน ก็ยังทำให้ก้อนหินนั้นกลมเกลี้ยงได้ แต่วิริยะไม่ใช่ความดุดันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือ ต้องให้ได้ดังใจเสมอ เพราะในบางเวลาบางสถานการณ์ เราอาจจะต้องปล่อยวาง หรือ วางเฉยเพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมกว่า เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นั้น และให้จดจำไว้เสมอว่า ถ้าคุณตกจาก “ความหวัง” (hope) คุณจะเจ็บน้อยกว่าตกจาก “ความคาดหวัง” (expectation)
จิตตะ คือใจ ที่จดจ่อต่อสิ่งที่เราคิดเราทำและรับผิดชอบด้วยความรอบคอบและรู้จริง ไม่ใช่สักแต่ทำไปแบบสุกเอาเผากิน ถ้าจะศึกษาอะไรก็มุ่งมั่นให้ได้ความรู้นั้นจนเป็นผู้ชำนาญ การจะมีใจจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรียกอีกอย่างว่าสมาธิ เมื่อใจเป็นสมาธิ ใจของคุณจะไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่จะฉุดคุณออกไปความตั้งใจ เช่นความเบื่อหน่าย หดหู่เซื่องซึมขี้เกียจ ฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กระวนกระวายกลุ้มกังวล ลังเลสงสัย โกรธแค้น คิดร้าย เป็นต้น
วิมังสา คือ การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้ว่าเกิดผลดีและผลเสียอย่างไร เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น แทนที่จะมุทะลุทำโดยไม่พิจารณาว่ามันเป็นเส้นทาง หรือ วิธีการที่ถูกต้องหรือดีที่สุดแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำเช่นนั้น อาจพาเราเข้ารกเข้าพงไปได้ ยิ่งที่วิริยะมาก ก็ยิ่งผิดทางไปไกล
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก ดร.เอ๋ย (อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์)
มีชายหนุ่มคนหนึ่งมีอาชีพตัดต้นไม้ เขาเป็นคนขยันขันแข็งไม่มีใครเทียบ วันหนึ่งเขาไปสมัครทำงานตัดต้นไม้ในเมือง เจ้านายรับเขาเข้าทำงานและบอกว่าถ้าตัดต้นไม้มากก็จะได้เงินเดือนมาก ตัดต้นไม้ได้น้อยก็ได้เงินเดือนน้อย ชายตัดไม้ดีใจ
วันแรกที่เขาตัดไม้ เขาตัดต้นไม้ได้ถึง 10 ต้น วันต่อๆ มาเพิ่มขึ้นเป็น 12 ต้น 15 ต้น จนกระทั่ง 20 ต้น เจ้านายชื่นชม เพื่อนฝูงทึ่งเขา แต่คงไม่เท่ากับความภาคภูมิใจของตัวเอง เขาบอกตัวเองว่า เขาจะต้องทำงานให้ดีที่สุด ต้องแข่งกับตัวเอง โดยต้องตัดต้นไม้ได้มากขึ้นทุกวัน… ชายตัดไม้ตื่นเช้ามากขึ้นทำงานจนดึกทุกวันเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เขาพบว่า เขาไม่เคยตัดไม้ได้เกิน 20 ต้น อีกเลยไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน เพียงไร
ชายตัดไม้ทดท้อมาก เขาเข้าไปหาเจ้านายและบอกว่า เขาไม่อยากทำงานตัดไม้อีกแล้ว
ทำไมล่ะ…เจ้านายถาม
ผมไม่มีความสามารถ ดูสิ…ผมทุ่มเทเวลา กำลังกาย กำลังใจทั้งหมดให้กับการตัดไม้ แต่ผมกลับตัดไม้ได้น้อยลงกว่าเดิม ผมไม่ควรตัดไม้อีกต่อไป
เจ้านายยิ้ม…ตบไหล่เขาเบาๆ เธอไม่ได้ทำงานได้น้อยลงนะ แต่เธอลืมไปอย่างหนึ่งในการตัดไม้……ไปลับขวาน เสียบ้าง….มันทื่อแล้ว….
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1.การทำงานนอกจากจะรักงาน (ฉันทะ) มีความเพียร (วิริยะ) ความตั้งใจเอาใจจดจ่ออยู่กับงาน (จิตตะ) ยังไม่พอ ต้องใช้ สติปัญญาทบทวน ใคร่ครวญหาสาเหตุข้อบกพร่องของงานเพื่อทำให้ดียิ่งขึ้น (วิมังสา)
2.การทำงานโดยไม่หยุดพัก ทำให้เราพลาดโอกาสในการมองเห็นความสุขของเนื้องาน การมุ่งแต่เป้าหมายไม่สนใจระหว่างทางก็ทำให้เราไม่ซาบซึ้งกับความสุขที่ได้ทำงาน
3.การเสียเวลาลับคมขวานก็เหมือนกับการศึกษาหาความรู้ โดยเข้าห้องรับการฝึกอบรม จริงอยู่ว่ามันเสียเวลา แต่สิ่งที่ได้จากการศึกษาอบรมอาจจะช่วยทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น
ความขยันอย่างดียวไม่ได้ช่วยอะไรค่ะ
HU-HRM สาขาวิชา HRM ม.หาดใหญ่