ชีวิตดีเมื่อกล่าว วาจาอันเป็นสุภาษิต มงคลที่ 10 ในมงคลชีวิต 38 ประการ

12 เมษายน 2563 16:14 น.


ชีวิตดีเมื่อกล่าว วาจาอันเป็นสุภาษิต มงคลที่ 10 ในมงคลชีวิต 38 ประการ

มงคลที่ 10 การกล่าว วาจาอันเป็นสุภาษิต (สุภาสิตา จะ ยา วาจา)

วาจาอันใดที่ไพเราะอ่อนหวานไม่รำคาญแก่โสต เป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า วาจานั้นชื่อว่า วาจาสุภาษิต

วาจาสุภาษิตประกอบด้วยองค์ 5 ประการ และเว้นจากองค์ 4 ประการ ที่ว่าประกอบด้วยองค์ 5 ประการ คือ

 

องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

๑. ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง ๒. ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่ บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

๓. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

๔. พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมี ความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำ สุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้วยคำที่กล่าวด้วยจิตขุนมัว แม้เพียงประโยคเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างไม่อาจประมาณได้

๕. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานหรือจับผิดกันไป

- พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

- พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร

เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้

“คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย

คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด”

 

สำหรับคำที่ว่าวาจาสุภาษิตนั้นเว้นจากองค์ 4 ก็คือ

1. มุสาวาท คือการกล่าวคำเท็จ หลอกลวง ล่อลวง ด้วยเรื่องไม่จริง ทำให้ผู้ฟังต้องเสียหายจากประโยชน์ต่าง ๆ

2. ปิสุณาวาท หรือ เปสุญญวาท คือการกล่าวถ้อยคำส่อเสียดยุยงให้คนแตกกัน ให้คนทะเลาะกัน ให้คนผิดใจกัน ให้คนแตกความสามัคคีกัน ให้คนกลายจากมิตรเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน

3. ผรุสวาท คือคำพูดหยาบคาย คำพูดเผ็ดร้อน คำพูดที่ประสงค์ให้ผู้ฟังเจ็บใจ เดือดเนื้อร้อนใจ ทุกข์ระทมใจ

4. สัมผัปปลาปะ คือ คำพูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ ไม่ถูกกาละเทศะ


 

อานิสงส์การมีจาจาสุภาษิต

            ๑.        เป็นคนมีเสน่ห์  เป็นที่รักของชนทุกชั้น

            ๒.        มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

            ๓.        มีวาจาสิทธิ์  ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา

            ๔.        ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม

            ๕.        ไม่ตกไปในอบายภูมิ

 

นอกจากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังให้หลักการพูดเอาไว้อีก 6 ประการ คือ


1.คำไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
2.คำไม่จริง ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าเป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
3.ถึงจะเป็นคำจริง แต่ไม่มีประโยชน์ แล้วก็ไม่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
4.เป็นคำจริง ไม่มีประโยชน์ แต่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
5.เป็นคำจริง มีประโยชน์ แต่ว่าไม่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = อันนี้ต้องรอจังหวะให้ดีค่อยพูด
6.เป็นคำจริง มีประโยชน์ แล้วก็เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจึงจะพูด


ถ้าทุกคนยึดหลักวาจาสุภาษิต คิดให้รอบคอบก่อนพูด โลกนี้จะน่าอยู่ขนาดไหน ดังนั้นก่อนจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไร เราควรคิดให้ดีก่อนว่าสิ่งที่เราพูดมีผลดีผลเสียกับใครหรือไม่

 

 

 

">

 


 

ขอขอบคุณ

เรื่องจาก พุทธมงคลอานิสงส์ – พระชุมพล พลปญฺโญ

Secret Magazine (Thailand)

https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/130445.html

http://www.kalyanamitra.org/th

http://www.happynitan.com/proverbs/