สวดมนต์ …ทำไมและสวดอย่างไรไม่เป็น “มนต์คาถา” ท่านว.วชิรเมธีมีคำตอบ

18 กรกฎาคม 2560
  •    3,197

สวดมนต์ …ทำไมและสวดอย่างไรไม่เป็น “มนต์คาถา” ท่านว.วชิรเมธีมีคำตอบ

คนส่วนหนึ่งเชื่อว่า การ สวดมนต์ เป็นแค่เพียงกิจกรรมอย่างหนึ่งทางศาสนา…แต่คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งสวดมนต์เป็นประจำจนเห็นผลดีกับตัวเอง กลับค้นพบว่า การสวดมนต์มีพลังอำนาจมากกว่าที่คิด

ท่าน ว.วชิรเมธี ปราชญ์ทางธรรมเล่าว่า การสวดมนต์น่าจะเกิดขึ้นจากประเพณีการเล่าเรียนธรรมะที่สืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาล ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระสงฆ์จะฟังธรรมจากพระองค์แล้วจำไว้ จากนั้นจะแบ่งกลุ่มกันจำพระพุทธวจนะเป็นกลุ่มเช่น สายพระอานนท์จำพระสูตร สายพระสารีบุตรจำพระอภิธรรมสายพระอุบาลีจำพระวินัย พระสงฆ์ที่เป็นหัวหน้าสายก็จะมีศิษยานุศิษย์ของตนมากมายช่วยกันจำพระพุทธวจนะ ลักษณะการร่ำเรียนพระพุทธวจนะนั้นดำเนินในแบบปากต่อปาก (มุขปาฐะ) คือครูเป็นผู้บอกพระพุทธวจนะ ศิษย์ก็จำต่อจากครู เมื่อจำได้แล้วครูก็จะมอบพระพุทธพจน์บทใหม่ให้ท่องต่อไป

การสวดมนต์ถือเป็นกุศลกรรมอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการสวดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะทั้งสิ้นนอกจากนี้ ในขณะที่สวดนั้นเป็นการทำความดีทั้งทางกาย (กิริยาที่กำลังสวดมนต์) ทางวาจา (การสวด) และทางใจ (ต้องมีสมาธิต่อบทสวดมนต์) ยิ่งถ้าเป็นการสวดมนต์แปลที่ทำให้ได้ปัญญาด้วยก็ยิ่งเป็นมหากุศล เพราะจะส่งผลให้รู้จักนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

โดยบทสวดมนต์ในพุทธศาสนามีทั้งที่เป็นบทสวดแบบร้อยแก้วคือความเรียงธรรมดา และแบบร้อยกรอง กล่าวเฉพาะบทสวดมนต์ที่ชาวพุทธไทยนิยมสวดกันในปัจจุบันนั้น โดยมากมักเป็นบทสวดประเภทกวีนิพนธ์ เช่น คาถาชินบัญชร คาถาพาหุง คาถาโพชฌงค์ ซึ่งล้วนมีความไพเราะเพราะพริ้ง มีความวิจิตรบรรจงในการเลือกใช้คำและซ่อนความหมายระหว่างบรรทัดให้ขบคิดแพรวพราวแทบทุกบท

ทั้งนี้ ท่าน ว.วชิรเมธีทิ้งท้ายให้คิดว่า “มนต์” เป็นพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ถ้าสวดมนต์แบบไม่มีปัญญาจะเรียกว่า “มนต์คาถา” ถ้าสวดอย่างมีปัญญาเข้าใจในพุทธธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราเรียกว่า “พุทธมนต์” ทุกวันนี้เราต้องตรองดูว่ากำลังสวดพุทธมนต์หรือมนต์คาถา ถ้าการสวดมนต์ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เปลี่ยนความคิดให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ก็เรียกได้ว่าสวดมนต์อย่างถูกต้องถูกทาง

 

ขอขอบคุณสื่อจาก


  •    3,197