หวายหวานเติมสุข

8 กุมภาพันธ์ 2565
  •    2,316

     หวายหวานเติมสุข

ผลงานจากโรงเรียนขนาดเล็กแต่หัวใจไม่เล็ก

คว้าแชมป์ Shining School Project ประจำปี 2564

 

Highlights

- หวายหวานเติมสุข เป็นโครงการที่เกิดจากแนวคิดนอกกรอบของโรงเรียนบ้านหวาย จ.สกลนคร ที่ต้องการแก้ไขปัญหา “ศิษย์เก่ากลับมาขโมยของในโรงเรียน” ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อให้นักเรียนได้มีอาชีพติดตัว

- “หวายหวานเติมสุข...ไปต่อได้ถูกทาง เพราะ Shining School Project”

Shining School Project เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของโค้ชทั้ง 4 ท่าน (บริษัท มายด์ ทูลส์ จำกัด) และโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 ฯ ที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คุณครูที่เข้าร่วมโครงการนำกระบวนการคิดและทำงานแบบ Innovation Design Thinking ไปใช้ ให้โรงเรียนสร้างการเรียนรู้แบบ Child Center ได้อย่างแท้จริง

- “พอเราเปิดใจฟังเด็กให้มากขึ้น หรือเรียกว่าฟังเด็กเกือบ 100% แล้วกลับมาย้อนคิดดูว่า เด็กต้องการอะไร ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นมันสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เพราะมันไม่ได้เกิดจากความต้องการของครูแต่เพียงอย่างเดียว จึงกลายเป็นกิจกรรมที่ครูก็มีความสุข เด็กก็มีความสุข ต่างคนต่างมีความสุข” หัวใจสำคัญที่ทำให้หวายหวานเติมสุขสมบูรณ์แบบ คือ Empathy การเปิดหัวใจ เพื่อเข้าใจเด็กอย่างแท้จริง จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุด

 

          ครบหนึ่งปีเต็มที่เราได้ฟังบทสัมภาษณ์ของ ผอ.ออยล์ แห่งโรงเรียนบ้านหวาย วันนั้นเราได้ยินถึงความคิดริเริ่มของผอ. ที่จะบูรณาการศาสตร์ตะวันตกกับการขับเคลื่อนศีลธรรมในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

          ผอ.ออยล์ เล่าให้ฟังว่า ขั้นตอนแรกเพื่อสร้างความยั่งยืนในการขับเคลื่อนศีลธรรมในโรงเรียน ต้องเริ่มจากบุคลากรที่มีความสำคัญที่สุดคือ คุณครู เรารู้สึกชื่นชมในเจตนารมณ์นี้เป็นอย่างมาก แต่สารภาพว่ายังอดสงสัยไม่ได้ ว่าจะต้องใช้เวลาซักเท่าไหร่ เพราะเส้นทางนี้คงไม่ง่าย... การท้าทายกรอบความคิดเดิมที่ฝังรากลึก เพื่อสร้างกรอบความคิดแบบใหม่ให้คุณครู

          แต่บทสัมภาษณ์ของคุณครูบีม แห่งโรงเรียนบ้านหวายในวันนี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า บุคลากรครูของโรงเรียนมีความพร้อมแล้วที่จะบูรณาการศาสตร์ตะวันตกเพื่อปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งศีลธรรมให้เด็ก ๆ มีภูมิคุ้มกันและสามารถพึ่งพาตัวเองได้

 

1.แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ

 

ชื่อครูบีม กัญญ์วรา โคตะมา โรงเรียนบ้านหวาย จังหวัดสกลนคร สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บรรจุได้ 2 ปีแล้วค่ะ

 

2.“Shining School Project”… แสงสว่างแห่งโรงเรียนบ้านหวาย

          หวายหวานเติมสุข เป็นโครงการที่โรงเรียนกำลังริเริ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ส่งออกไปถึงเด็ก ๆ เนื่องจากโรงเรียนบ้านหวายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนเพียง 63 คน จึงไม่มีงบประมาณเหลือที่จะไปพัฒนาโครงการต่อ

          ครูบีมเล่าว่า เคยคิดจะไปรับบริจาค แต่สุดท้ายมองว่าไม่ยั่งยืน จึงมองหาหนทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนแบบพึ่งพาตัวเองได้ “Shining School Project จึงเป็นเหมือนโครงการที่เป็นแสงสว่างให้กับโรงเรียนบ้านหวาย ว่าเราจะสามารถไปต่อกับหวายหวานได้อย่างไร”

 

 

3.Design Thinking เริ่มง่าย ๆ แค่ Find the right problem to solve

          จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาในโรงเรียน...

“เมื่อเด็กได้มาโรงเรียน เขายังมีครูที่คอยดึง คอยช่วย แต่พอเด็กจบออกไป ถึงเราจะขัดเกลาเขาขนาดไหน แต่ถ้าเด็กต้องกลับไปอยู่ในสังคมเดิมที่ไม่มีรายได้ ประกอบกับใจของเขาที่ยังไม่เข้มแข็งพอ มันเลยทำให้เขากลับไปเป็นคนเดิม”

          “สิ่งที่โรงเรียนเจอคือมีเหตุการณ์ของหายเกิดขึ้นบ่อยมากทั้ง ๆ ที่เด็กจบออกไปแล้ว เราเลยมานั่งคุยกันว่า เราอุตส่าห์อยากให้เขาเติบโตออกไปเป็นคนที่มีคุณภาพ ออกไปอยู่กับสังคมได้โดยไม่ได้เป็นภาระ แต่สุดท้ายเรามาสะท้อนใจว่า เหมือนเราผลิตโจรออกไปในสังคม”

          “เลยย้อนถามตัวเองว่า หลักสูตรที่เราทำตามนโยบาย มันตอบโจทย์เราจริงไหม และกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

 

จึงเป็นที่มาของโครงการหวายหวานเติมสุข เพื่อสร้างอาชีพ

ถึงมันอาจจะไม่ใช่อาชีพที่หลากหลาย แต่อาจจะเป็นอาชีพเดียวที่จุดประกายให้เขาได้

 

4.Empathize ฟังสร้างสุข…เมื่อใส่ใจในสิ่งที่นักเรียนสนใจ

          “การที่เด็กคนหนึ่งพูดคำ ๆ หนึ่งออกมา มันจะต้องมีอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในนั้นแน่นอน พอเราเปิดใจฟังเด็กให้มากขึ้น หรือเรียกว่าฟังเด็กเกือบ 100% แล้วกลับมาย้อนคิดดูว่า เด็กต้องการอะไร ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นมันสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เพราะมันไม่ได้เกิดจากความต้องการของครูแต่เพียงอย่างเดียว จึงกลายเป็นกิจกรรมที่ครูก็มีความสุข เด็กก็มีความสุข ต่างคนต่างมีความสุข” ถ้าเพียงแต่เราใช้ใจฟัง เราจะได้ยินสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้น แล้วความหวังดีของเราจะสร้างความสุขให้ผู้รับได้อย่างแท้จริง

 

5.Ideate เพื่อพัฒนา... สร้างคุณค่าสู่นักเรียน

          เริ่มจากเข้าใจปัญหาที่แท้จริงและฟังจนได้ยินความต้องการของนักเรียน… เกิดการระดมความคิดจนเกิดเป็นไอเดียที่หลากหลาย ความท้าทายอยู่ตรงที่จะเลือกไอเดียไหนมาทดลองก่อน

ครูบีมอธิบายให้ฟังด้วยน้ำเสียงฉะฉาน ว่าหวายหวานเติมสุขโดดเด่นขึ้นมาเพราะสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมดตามที่โค้ชได้ให้แนวทางไว้

           *  New… เป็นโครงการใหม่
           *  Value added… เน้นการพัฒนาสมรรถนะจึงสามารถสร้างคุณค่าให้ตัวนักเรียนทั้งในเชิงทักษะและความ
               ภาคภูมิใจนอกจากนี้ยังสามารถบูรณาการกับการเรียนรู้อื่น ๆ ได้
           *  Function… โรงเรียนของเรามีความพร้อม “เนื่องจากท่านผอ.ออยล์เก่งในการทำขนม การทำเบเกอรี่
               และมีคุณครูอีกท่านหนึ่ง เก่งในเรื่องของการทำเบเกอรี่เช่นกัน”
           *  Result… ผลลัพธ์สามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่ยังยืน

           

และนี่เอง ที่ทำให้โครงการหวายหวานเติมสุขเข้าวินไปอย่างไม่มีข้อสงสัย

แบบนี้สินะถึงเรียกว่า Do less… get more

 

6.Prototype เร็วไว ให้เข้าใจอะไรทำได้จริง

          เมื่อไอเดียพร้อม ครูบีมเริ่มทดลองกับทีมคุณครูก่อน เพื่อออกแบบกระบวนการการเรียนรู้ในการพัฒนาสมรรถนะให้เด็ก ๆ เรื่องของการทำขนม โดยเริ่มจากคุณครูที่มีความรู้ด้านการทำขนมเป็นศูนย์ “เราให้คุณครูจับคู่กันแล้วให้โจทย์ว่าให้ลองทำขนมไข่ โดยไม่บอกเลยว่าอุปกรณ์มีอะไรบ้าง แล้วให้ศึกษาเรียนรู้กันเองว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้ขนมไข่”

          เมื่อเริ่มลงมือทำ จะเกิดเป็นกระบวนการการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาจนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นขนมไข่ หลังจากสรุปผลประกอบการ ทีมคุณครูจะมาอภิปรายกันว่าได้เรียนรู้อะไร ผิดพลาดตรงไหน และจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร รวมถึงว่าจะปรับตรงไหนเพื่อให้ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างเหมาะสม

          นั่งคิด ๆ เอาเองคงไม่มีทางเข้าใจว่าคนในระดับปฏิบัติการเขารู้สึกอย่างไร
อยากให้ผู้กำหนดแผนการการทำงานไม่ว่าจะสายงานไหน ได้มาฟังบ้างจัง
บางทีคนคิดไม่ได้ทำ ส่วนคนต้องทำ... ก็ไม่มีโอกาสได้คิด

 

7.Play & Learn อย่างไรให้ได้ความรู้

          เมื่อการออกแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและเพื่อให้นักเรียนมีความสุข เป็นเป้าหมายหลักของโครงการ

คำถามคือ “แล้วเราจะสามารถบูรณาการศาสตร์อื่น ๆ เข้ามาได้อย่างไร ให้นักเรียนได้เรียนรู้ไปด้วย... แต่เรียนรู้อย่างมีความสุข

 

         
          ห้องเรียนทำขนมของโรงเรียนบ้านหวาย จึงสอดแทรกไปด้วยวิชาคณิตศาสตร์ทั้งในเรื่องการชั่งตวงวัดและการตั้งราคาขาย รวมไปถึงการอ่านภาษาอังกฤษเพื่ออ่านฉลากของวัตถุดิบที่นำมาใช้ 

‘ทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องเรียน’

8.ต่อยอดสร้างสรรค์กับ 7 กิจวัตรความดี

          เมื่อความรู้ต้องคู่คุณธรรม… จึงเป็นที่มาว่า Design Thinking และ 7 กิจวัตรความดีมาเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร

          ครูบีมกล่าวว่า “เราพบว่ามันสอดคล้องกันมาก” และเล่าให้ฟังต่อว่า “เรามีเด็กเล็กตั้งแต่ประถมหนึ่ง ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเด็กเล็ก ๆ สมาธิเขาสั้น การที่เด็กจะทำขนมได้ ต้องมีสติ ต้องมีสมาธิ เราเลยให้เด็กทำสมาธิก่อนที่จะเริ่มค่ะ”

          “นอกจากนี้เรายังได้สอดแทรกบทเรียนของศีล 5 เข้าไป ซึ่งมันคือการบูรณาการวิชาสังคมและพุทธศาสนาเข้ามาด้วย”

          “การจับดีและการพูดดี เป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนกระบวนการทำงานกลุ่มให้เกิดความปรองดองและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ การจับดียังเป็นการปลูกฝังให้เด็กคิดดีและรู้จักให้กำลังใจคนอื่น ถ้าสมมติทำงานกลุ่มแล้วพูดว่าแต่กัน จับแต่อะไรที่มันไม่ดีให้แต่กัน การทำงานกลุ่มก็จะไม่เกิดประสิทธิภาพ”

          “ส่วนการรักษาความสะอาด คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะขาดไม่ได้เลยและสามารถสอดแทรกไปตลอดกระบวนการทำขนม”

          และถึงแม้กระบวนการทำขนมจบแต่การเรียนรู้ยังไม่จบแค่นั้น “เราจะมาสรุปกันในช่วงอภิปรายที่เราเรียกว่า ชั่วโมงสุขจริงหนอ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆได้พูดและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ว่าเราเห็นอะไรบ้าง เราได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วงที่เราทำงานกลุ่มกับเพื่อน ๆ

          ในส่วนของการบำเพ็ญประโยชน์ ทางโรงเรียนได้วางแผนว่าจะนำขนมตรงนี้ ไปใช้กับอาหารกลางวัน และนำไปเป็นของที่ระลึกให้ผู้ใหญ่ที่มีโอกาสมาช่วยงานที่โรงเรียน

“คนให้ก็มีความสุข คนรับได้ทานของอร่อยก็มีความสุข ต่างคนต่างมีความสุข” ครูบีมกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

          “7 กิจวัตรความดีเป็นโมเดลที่ดีมาก ๆ สามารถเข้ากับหวายหวานเติมสุขได้พอดีเป๊ะ แล้วก็ลงตัวมาก ๆ ค่ะ”


          เป็นการบูรณาการ 7 กิจวัตรความดีเข้ากับกระบวนการการเรียนรู้ของโครงการหวายหวานเติมสุขได้อย่างสมบูรณ์แบบจริง ๆ

 

9.Prototype by คุณครู... สู่การลงมือทำโดยนักเรียน

          ครูบีมเล่าให้ฟังว่าทางโรงเรียนเริ่มต้นด้วยการแบ่งกลุ่มให้เด็ก ๆได้มีโอกาสร่วมกระบวนการการเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนจบกระบวนการ โดยในแต่ละสัปดาห์จะจัดให้มีเด็กทีละกลุ่มได้เรียนรู้การฝึกสมรรถนะผ่านกระบวนการนี้ เริ่มต้นด้วยการสอนศีล 5 และให้นั่งสมาธิก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมเพื่อนำเด็ก ๆให้มีสติและสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนรู้

          หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการ Empathize เพื่อกำหนดโจทย์ปัญหาโดยให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดว่าวันนี้เราอยากจะทำอะไร พอได้หลากหลายความคิด จากนั้นจะมีกระบวนการให้เด็ก ๆได้เรียนรู้ที่จะนำมาซึ่งโจทย์เดียว จากความคิดที่หลากหลาย

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ แต่สามารถเริ่มปลูกฝังได้ในโรงเรียน

          หลังจากได้โจทย์ จะให้เด็ก ๆไปเริ่มค้นหาวิธีการ ซึ่งแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นจากโทรศัพท์มือถือ “จากที่เขาอยู่กับโทรศัพท์อย่างเดียวแล้วเล่นอะไรก็ไม่รู้ ลองเปลี่ยนมาเป็นการสอนในเรื่องของการค้นหาผ่านสื่อ” สิ่งต่าง ๆ ย่อมมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับกระบวนการการเรียนรู้ที่เราออกแบบ ว่าสามารถช่วยให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้ได้มากน้อยเพียงใด

          หลังจากได้วิธีการ จะให้เด็ก ๆ ได้เริ่มลงมือปฏิบัติการ และในระหว่างทางเมื่อเจอปัญหาเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งขนมที่เป็นโจทย์ที่ทุกคนได้ตกลงกันไว้ในตอนแรก

หลังจากเสร็จสิ้นการปฎิบัติการ เด็ก ๆ ในกลุ่มจะได้ร่วมกันสรุปผลและอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ในชั่วโมงสุขจริงหนอ

“โดยคุณครูมีหน้าที่เพียง...

          ชวนคุย... เพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับในช่วงกระบวนการกลุ่มมีอะไรบ้าง และเขาได้เรียนรู้อะไร

          ตั้งคำถาม... ช่วยให้เด็ก ๆ ได้ต่อยอดความคิด”

 

10.จากหวายหวาน... สู่แสงสว่างของบ้านหวาย

          เริ่มจากการ Empathize เพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริงที่ต้องได้รับการแก้ไข โครงการหวายหวานเติมสุขจึงสามารถตอบโจทย์ได้ตรงกับที่ผู้รับต้องการ ซึ่งก็คือเด็ก ๆ ในโรงเรียนนั่นเอง

          หวายหวาน…สร้างสมรรถนะในเรื่องอาชีพให้กับเด็ก ๆ

          หวายหวาน… สร้างรายได้ให้กับโรงเรียน

          หวายหวาน… ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ในกระบวนการการเรียนรู้ที่นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ในห้องเรียน 

 

ครูบีมเล่าถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังจากโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแววตาเป็นประกายว่า…
     1.เด็กที่จบจากโรงเรียนบ้านหวายจะต้องมีทักษะและสมรรถนะในเรื่องของการทำขนม, การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ขนม รวมไปถึงการถ่ายภาพการ promote สินค้า, ทำคอนเทนท์ลง Facebook เพื่อสร้างช่องทางการขายรวมถึงสามารถที่จะตั้งร้านค้าเองได้
     2.เด็กสามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบในชุมชนเพื่อผลิตสินค้าที่สร้างสรรค์ได้
     3.โรงเรียนบ้านหวายมีรายได้ที่จะมาพัฒนาโรงเรียน
     4.
คุณครูมีการปรับรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างจากการสอนในห้องเรียนแบบเดิม ๆ เพื่อเปลี่ยนจาก passive learning เป็น active learning
     5.สามารถบูรณาการ 7 กิจวัตรความดีเข้ากับหวายหวานเติมสุข ในการปลูกฝังเรื่องความสะอาด, ได้เห็นความสำคัญในเรื่องของสติสมาธิ, เรียนรู้ศีล 5 เพื่อประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานกลุ่มกับเพื่อน ๆ และตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม

หวายหวานจึงเติมสุข... ด้วยประการฉะนี้

 


11.บทบาทใหม่ของคุณครูสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน

          ครูบีมเริ่มต้นด้วยคำถามชวนคิดว่า “บางทีการที่เรามองแต่มุมครูจนเกินไปแล้วตั้งโจทย์ขึ้นมา บอกให้ทำขนมไข่ อาจจะไม่ตอบโจทย์ ทำไมไม่ให้เด็กที่เป็นคนกินได้เลือกโจทย์เอง ทำไมจะต้องไปทำตามคุณครู”

        และเสริมด้วยมุมมองที่น่าสนใจต่อว่า “เรามองว่าหลักสูตรการเรียนรู้ในห้องเรียนทั่ว ๆ ไปเป็นวิธีการที่ล้าหลัง แต่ถ้าเราลองปรับให้มันน่าสนใจ ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากอะไรที่เป็นชีวิตจริง เรียนรู้อะไรที่เขาสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้ เขาจะเห็นถึงความสำคัญแล้วมันจะกลายเป็นความรู้ที่อยู่ได้ยาวนาน และเชื่อว่าตัวเขาเองจะกลายเป็นคนที่รักที่จะเรียนรู้” เมื่อเป็นสิ่งที่เลือกเอง ย่อมเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเรียนรู้ เกิดแรงจูงใจและเด็ก ๆ จะสนุกไปกับการเรียนรู้ที่เขาได้เลือกเอง

        สุดท้ายครูบีมกล่าวถึงบทบาทของครูต่อการเรียนรู้ของเด็กในรูปแบบของ Active Learning ไว้ได้อย่างเห็นภาพว่า... “ครูจะไม่ช่วยเลย ครูจะเป็นโค้ชที่ยืนมอง และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ลองทำและเรียนรู้อย่างเต็มที่ แล้วเราจะมาช่วยในขั้นตอนการสรุปผลและอภิปรายเท่านั้น”

12.อยากได้ผลลัพธ์ใหม่ ต้องเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการ

          “บางทีรูปแบบและวิธีการสอนแบบเดิม ๆ ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตจริงแล้ว แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนกระบวนการการเรียนรู้ให้เด็กได้ฝึกสมรรถนะที่ตอบโจทย์และอยู่ในความสนใจของเขา รวมถึงสอดแทรกเรื่องราวอื่น ๆ ให้เขาได้เรียนรู้ การศึกษาไทยจะก้าวไปไกลมาก ๆ”

          ครูบีมสรุปไว้สั้น ๆ ว่า “เมื่ออยากได้ผลลัพธ์ใหม่ ๆ วิธีการก็ต้องเปลี่ยนด้วย”

 

13.หวายหวานเติมฝันโรงเรียนของฉันน่าอยู่

          ได้ยินมาว่าครูบีมและผอ.ออยล์มีภาพฝันร่วมกันว่าอยากให้โรงเรียนน่าอยู่ ทีมงานเลยเชิญชวนให้ครูบีมเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่กำลังทำ “เราพยายามหาเงินมาพัฒนาไปทีละจุด ๆ และหวายหวานเติมสุขเป็นอะไรที่ตอบโจทย์เรามาก เพราะไม่ใช่การที่ทางโครงการมอบเงินซื้อของแล้วมันจบ แต่มันคือการให้เราสร้างเครื่องมือเพื่อที่จะต่อยอดให้โรงเรียนสามารถเลี้ยงตัวเองได้”

          ในส่วนของแนวทางการเรียนการสอนนั้น ผอ.ออยล์มีแนวคิดในการพัฒนาวิธีการสอนและสื่อการจัดการการเรียนรู้โดยไม่ยึดตามหลักการแต่มองตามหลักความเป็นจริง เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งให้เด็กตัวเล็ก ๆ อ่านหนังสือเยอะ ๆ เด็กเล็ก ๆ ควรจะได้เล่นเต็มที่ แต่เล่นยังไงให้ได้ความรู้ไปด้วย…ท้าทายนะคะ

ครูบีมจึงเล่าต่อว่า ผอ.ให้แนวทางไว้อย่างไรเพื่อตอบโจทย์ที่ท้าทายนี้ “ท่านผอ. ให้ความสำคัญที่ความสุขในการเรียนรู้ระหว่างทางมากกว่าเรื่องคะแนน เพื่อสร้างกรอบความคิดให้คุณครูมีทักษะในการออกแบบการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์”

          เมื่อได้รับคำถามว่าเด็ก ๆ รู้สึกอย่างไรกับการเรียนรู้แบบใหม่ ครูบีมตอบทันทีโดยไม่ลังเลว่า “เด็ก ๆ ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ ไดัปั้น ได้จับ ได้เฝ้ารอขนมหน้าเตาอบ เป็นขนมที่เด็ก ๆ ชอบ”

“เด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านหวายมีความสุขกับการมาโรงเรียน”

“เรียนเหมือนไม่ได้เรียน เราสร้างกิจกรรมเหมือนให้เขาได้เล่นแล้วเราค่อยสอดแทรกการเรียนรู้เข้าไป”

          ถ้าเกิดช้ากว่านี้อีกซักนิด เราคงต้องไปสมัครเป็นลูกศิษย์ครูบีมแน่นอน

 

14.เมื่อเป้าหมายชัด คำตอบจะปรากฏเอง

          เมื่อทีมงานเชิญชวนให้ครูบีมฝากทิ้งท้ายเป็นกำลังใจให้คุณครูที่อยากออกจากกรอบของระบบการศึกษาแบบเดิม เพื่อเริ่มใหม่ในแนวทางการสอนแบบสร้างสรรค์ สร้างสุข

          ครูบีมเริ่มเรื่องอย่างน่าสนใจ ด้วยการเล่าถึงพื้นฐานครอบครัวของเธอ

“คุณแม่ของบีมเป็นคุณครูภาษาไทยที่ทำงานหนักมาก เราเคยสงสัยว่าทำไมแม่ต้องทุ่มเทขนาดนี้ ทำไมต้องจริงจังกับเด็กขนาดนี้ คำตอบที่แม่ให้กับบีมและเป็นแรงบันดาลใจคือ… แม่ถามว่า เรามาเพื่ออะไร เพื่อสอนเด็กไม่ใช่หรอ ถ้าคำตอบคือเพื่อเด็ก ก็คือจบ เพราะเป้าหมายของเราคือขอให้เด็กเติบโตไปเป็นคนที่ดี ไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียวและเขาสามารถเรียนรู้ได้ในแบบที่มีความสุข”

          “เมื่อเป้าหมายชัดเจน อะไรจะเกิดขึ้น อุปสรรคอะไรจะเข้ามา เราจะปรับตัวเพื่อให้เราสามารถเดินตามเส้นทางของเป้าหมายที่เราได้เลือกแล้ว”

สิ่งที่ครูบีมฝากไว้ จึงสรุปได้สั้น ๆ ว่า ‘เมื่อเป้าหมายชัด เส้นทางจะปรากฏเอง’

ครูบีมกล่าวต่อด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “รู้สึกว่าอยู่ตรงนี้เรามีความสุข รู้สึกว่าอยู่กับเด็กแล้วได้ชาร์จพลัง” “ห้องเรียนบีมด้วยความที่มีเด็กนักเรียนแค่ 10 คน เราสามารถสร้างเด็ก 10 คนให้เปล่งประกายในแบบที่แตกต่าง”

 

สามารถติดตามความสนุกสนานของห้องเรียนครูบีมได้ที่ เพจ Facebook สื่อการจัดการเรียนรู้ by ครู’บีม

 15.จากใจครูบีม

          “ขอบพระคุณทางโครงการมาก ๆ รวมถึงโค้ช ที่ทำให้เราได้เห็นถึงบางสิ่งบางอย่างที่เรามองข้ามไป เราต้องขอบคุณที่ทำให้ตัวเราเองได้เปลี่ยนมุมมองความคิด ได้มองในมุมที่เรามองไม่เคยเห็น”

          “นอกเหนือไปจากความรู้ อยากขอบคุณที่สนับสนุนในเรื่องการเงิน มันอาจจะเป็นเงินเล็ก ๆ แต่สำหรับโรงเรียนเรามันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างให้เราเป็นโรงเรียนที่น่าอยู่และสามารถสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนของเราได้”

 


16.บทส่งท้าย

          ตลอดบทสัมภาษณ์นี้ เราสัมผัสได้ถึงความรักและความภูมิใจต่อหน้าที่ความเป็นครูที่ส่งผ่านจากคำพูดและรอยยิ้มของครูบีม

          เมื่อความสุขไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ในระหว่างเส้นทาง…ทุก ๆ วันของเราจึงเหมือนได้ชาร์จพลังและมีความสุข ดังเช่นเรื่องราวของครูบีมแห่งโรงเรียนบ้านหวาย ที่ได้ให้โอกาสตัวเองได้เข้าร่วมโครงการ Shining School Project เพื่อค้นหาแสงสว่างที่จะนำทางให้หวายหวานเติมสุข เดินหน้าต่อไปตามความมุ่งมั่นและตั้งใจ ที่จะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความดีให้เติบโตและงอกงามไปสู่ใจของลูกศิษย์ ด้วยกระบวนการถ่ายทอดที่มาจาก…หัวใจของคนเป็นครู

 


  •    2,316